ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานบิวท์อินตกแต่งภายใน

Last updated: 26 Jun 2023  |  283 Views  | 

ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานบิวท์อินตกแต่งภายใน

          ไม้ถือเป็นวัสดุโครงสร้างที่มีความสำคัญในงานบิวท์อินตกแต่งภายในเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวัสดุหลักในการสร้างความแข็งแรงและใช้รองรับน้ำหนักการใช้งานต่างๆ ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ในงานประเภทนี้นั้นความหลากหลายเป็นอย่างมาก Designterior จึงได้รวบรวมข้อมูล “ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานบิวท์อินตกแต่งภายใน” มาให้ทุกท่านได้ทราบ เพื่อให้ทุกท่านสามารถเลือกใช้ไม้ในงานบิวท์อินได้อย่างเหมาะสม

1. ไม้จริง (Wood)

ที่มาของภาพ: Rob Severein

          เป็นไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานบิวท์อินตกแต่งภายในเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวไม้มีรูปร่างที่คงตัว แข็งแรง ทนทาน ไม่ขึ้นสนิม ผิวเรียบเนียน และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยไม้จริงที่นิยมนำมาใช้นั้นมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ
                    - ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้ากว่าไม้เนื้ออ่อน ทำให้มีวงปีที่มากกว่า โดยไม้ประเภทนี้ต้องมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี ถึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ ยกเว้นไม้ตะเคียนทองที่อายุ 7 ปี 7 เดือนก็สามารถนำมาใช้ได้แล้ว ลักษณะทั่วไปจะเป็นไม้ที่เนื้อแน่นและเหนียว ผิวของไม้จะมีความมัน และสีเข้ม ลวดลายละเอียดสวยงาม แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนักมาก สามารถนำไปใช้บิวท์อินได้ทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นงานปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ หรืองานโครงสร้าง โดยไม้เนื้อแข็งที่นิยมนำมาใช้งาน ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ตะแบก ไม้ตะเคียนทอง ไม้สัก ไม้มะค่าแต้ ไม้พลวง ไม้นนทรี ไม้ตาเสือ ไม้กะบาก ไม้การ์เปอร์ ไม้บีช ไม้เบญจพรรณ ไม้แอช ไม้โปโร่ ไม้แคมปัส เป็นต้น
                    - ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ทำให้มีลำต้นใหญ่ และวงปีที่กว้างกว่าไม้เนื้อแข็ง และไม้เนื้อแกร่ง  ซึ่งลักษณะทั่วไปของไม้เนื้ออ่อนนั้นตัวเนื้อไม้จะมีสีที่จางค่อนไปทางซีด ลวดลายน้อยไม่ละเอียด และมีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างเหนียว ทำให้มีความแข็งแรงและความทนทานในการรับน้ำหนักได้น้อย จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ในงานตกแต่งภายใน งานในร่มหรืองานชั่วคราว เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง และงานส่วนโครงสร้างที่ไม่ได้รับน้ำหนักเท่านั้น โดยไม้เนื้ออ่อนที่นิยมนำมาใช้ ได้แก่ ไม้ยาง ไม้พะยอม ไม้กระเจา ไม้กระท้อน ไม้ต้นมะพร้าว ไม้อากาดีส ไม้สน ไม้ฉำฉา ไม้กระท้อน ไม้เหียง ไม้โมก ไม้จำปา เป็นต้น
                    - ไม้เนื้อแกร่ง เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้าที่สุด ทำให้มีวงปีที่ถี่กว่าเมื่อเทียบกับไม้ 2 ประเภทแรก โดยไม้ประเภทนี้ต้องมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยไปกว่า 60 – 70 ปี ถึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ โดยลักษณะของเนื้อไม้จะมีสีเข้มค่อนไปทางแดง น้ำหนักไม่มาก และมีความแข็งแรงกว่าไม้เนื้อแข็ง จึงนิยมนำมาใช้ในงานโครงสร้างมากกว่างานแบบอื่นๆ เช่น คาน ขื่อ เสา เป็นต้น โดยไม้เนื้อแกร่งที่นิยมนำมาใช้งาน ได้แก่ ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้ตัวลัง ไม้ตะเคียน ไม้ชีลาว ไม้แคนลาว ไม้เกลือ เป็นต้น

2. ไม้ HDF (HIGH DENDITY FIBERBOARD)

ที่มาของภาพ: Kristi at Addicted2Decorating

          ไม้ HDF เป็นแผ่นไม้บอร์ดที่ผลิตจากไม้สับบดละเอียดแล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการทนความชื้นสูง และมีการเพิ่มเนื้อไม้ทำให้แผ่นไม้มีความแข็งแรงและมีความหนาแน่นสูง (840 kg/m3) เนื้อละเอียดแน่นไม่มีรูพรุน และทนต่อแรงกระแทก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง งานที่ต้องรับน้ำหนักหรือรับแรงกระแทก เช่น ประตู และผนังกันห้องเป็นต้น โดยปัจจุบันไม้ HDF มีความหนาอยู่ที่ 2.5 – 15 มิลลิเมตร
          ข้อควรระวังในการใช้งานไม้ HDF
                    1. ไม่ควรใช้งานในบริเวณที่โดนน้ำโดยตรง
                    2. เนื้อแข็ง ตัดเลื่อยได้ยาก หากต้องการตัดต้องใช้ใบเลื่อยพิเศษเพื่อความเรียบเนียนและสวยงาม

3. ไม้ HMR (High Moisture Resistance board)

ที่มาของภาพ: ArchDaily

          เป็นแผ่นไม้บอร์ดที่พัฒนามาจากไม้ MDF และมีกระบวนการผลิตที่เหมือนกัน ต่างกันแค่ตรงที่ไม้ HMR มีการอัดกาวที่มีประสิทธิภาพในการทนความชื้นสูง และใส่สีเขียวเข้าไปในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการทนความชื้น การทนความร้อน และเพื่อให้สามารถจำแนกไม้ HMR ได้ง่ายเมื่อเทียบกับไม้ HDF และไม้ HDF โดยไม้ HMR สามารถทนความชื้นได้มากกว่าไม้ MDF ถึง 30% และมีความหนาแน่นสูง (650 - 800 kg/m3 ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ที่นำมาใช้ผลิต) เนื้อแน่นละเอียดไม่มีรูพรุน ทำให้ตัดแต่ง ตอกยึด และทำสีได้สวย แข็งแรงและรองรับน้ำหนักได้ดี (แต่น้อยกว่า HDF ) นิยมนำไปใช้ในงานที่ต้องกัดด้วยเครื่อง CNC งานฉลุลาย งานปิดผิว งานทำสี งานบิวท์อิน หรือเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น เคาน์เตอร์อ่างล้างจาน ตู้ใต้อ่างล้างหน้า ชั้นวางของในห้องน้ำ ฉากกั้นห้อง หรือฝ้าเพดาน เป็นต้น
          ข้อควรระวังในการใช้งานไม้ HMR : ไม่ควรใช้งานในบริเวณที่โดนน้ำโดยตรง

4. ไม้ MDF (Medium Density Fiberboard)

ที่มาของภาพ: Stock Cabinet Express

          หรือไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง ผลิตจากไม้สับที่บดละเอียดแล้วผ่านกระบวนการอัดด้วยเครื่องอัดไม้ที่มีแรงอัด และความร้อนสูง โดยไม้ที่นำมาผลิตจะเป็นไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา ไม้เบญจพรรณ หรือไม้ชนิดอื่นที่สามารถทดแทนได้ ทำให้ไม้ MDF มีผิวไม้ที่เรียบเนียน เนื้อละเอียดไม่มีรูพรุน และมีความหนาแน่นมากกว่าไม้ปาร์ติเกิล บอร์ด (particle board) เจาะ ตัดแต่ง ตอกยึด ทำสีได้สวย และมีหลายขนาดให้เลือก นิยมนำไปใช้ในงานเฟอร์เจอร์บิวท์อิน เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว งานปิดผิว งานตกแต่งและงานแกะสลักทุกชนิด
          ข้อควรระวังในการใช้งานไม้ MDF : ไม่กันน้ำ หากโดนน้ำจะทำให้ไม้บวมและพอง

5. ไม้อัด (Plywood)

           เป็นไม้ที่เกิดจากการนำเอาแผ่นไม้ฝานบางมาอัดประสานกันด้วยกาว โดยจัดวางแผ่นไม้แต่ละแผ่นในแนวเสี้ยนตั้งฉากกัน เพื่อป้องกันการหด-ขยาย และเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของแผ่นไม้ ไม้อัดสามารถทำสี และโชว์ลายได้เลย เพราะมีการปิดผิวด้วยวีเนียร์ เนื้อไม้แน่น และมีรุ่นให้เลือกใช้ทั้งแบบกันน้ำ และไม่กันน้ำ โดยขนาดมาตรฐานของไม้อัดอยู่ที่ 4 x 8 นิ้ว (1220 x 2440 มิลลิเมตร) ความหนาที่นิยมใช้กันจะอยู่ที่ 3, 4, 6, 10, 12, 15 และ 20 มิลลิเมตร เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการเฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายในและภายนอก และงานโครงสร้างบางงาน
           ข้อควรระวังในการใช้งานไม้อัด : ไม่ควรนำไปใช้ในงานที่มีการฉลุ หรือสลักลวดลาย เพราะจะทำให้เกิดรอยแตกและบิ่น

6. ไม้ OSB (Oriented Strand Board)

ที่มาของภาพ: Leroy Merlin

          เป็นไม้ที่เกิดจากการนำชิ้นไม้ลักษณะแบนบางและยาวมาวางสลับเสี้ยนขวางตั้งฉากกัน แล้วใช้กาวและเรซินมาเป็นส่วนผสมในการอัดด้วยแรงดันและความร้อนสูง ทำให้มีเนื้อแน่น แข็งแรง ทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม และมีลวดลายสวยงาม
          ปัจจุบันไม้ OBS มีชนิดให้เลือกอย่างหลากหลาย อาทิ
                    - ไม้ OBS ชนิดธรรมดา คือ ไม้ที่ไม่มีการอัดน้ำยากันปลวกและเชื้อรา นิยมนำมาทำลัง พาร์เลต เพื่อใช้ในการวางหรือขนส่งสินค้าทั่วไป
                    - ไม้ OBS ชนิดกันปลวกกันเชื้อรา คือ ไม้ที่มีการอัดน้ำยากันปลวกและเชื้อรา นิยมนำมาใช้ในงานโครงสร้าง เฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่ง เช่น ใช้รองการปูหลังคาชิงเกิ้ลรูฟ ตกแต่งผนังห้อง หรือโต๊ะ - เก้าอี้ เป็นต้น
          ข้อควรระวังในการใช้งานไม้ OSB : ไม่ควรนำไปใช้ในงานที่มีการฉลุ หรือสลักลวดลาย เพราะจะทำให้เนื้อไม้เกิดหลุดร่วง

7. ปาร์ติเกิล บอร์ด (particle board)

ที่มาของภาพ: Kreg Tool

           หรือ ชิปบอร์ด (chipboard) เป็นแผ่นไม้บอร์ดที่ทำมาจากชิ้นไม้สับ หรือขี้เลื้อย นำมาประสานกันด้วยสารเคมีแล้วบดอัดด้วยแรงอัด และความร้อนที่สูง ทำให้เนื้อไม้มีความเหนียว น้ำหนักเบา แต่ไม่แน่น มีความฟู หยาบ และมีโพรงอากาศเป็นจำนวนมาก โดยปาร์ติเกิล บอร์ด มี 2 ขนาดด้วยกัน คือขนาด 1200×2400 มิลลิเมตร และขนาด 1800×2400 มิลลิเมตร แต่มีความหนาให้เลือกหลากหลาย เช่น ความหนา 3 มิลลิเมตร, 9 มิลลิเมตร, 16 มิลลิเมตร และ 19 มิลลิเมตร เป็นต้น นิยมนำไปใช้ในการตกแต่งบ้านหรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์หรือลอยตัว
            ข้อควรระวังในการใช้งานปาร์ติเกิล บอร์ด : เนื้อไม้พองและขยายตัวได้ง่ายเมื่อโดนน้ำหรือความชื้นมาก และมีอายุการใช้งานสั้น

 

 

ที่มา : Agro FiberFlashdesign , WAZZADUKACHAthaiplywoodKITCHENFORMrkphomekitchen

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้